Meet MyFriends!: อ.น.สพ.ชัยยศ ธารรัตนะ

เป็นวันที่อากาศร้อนจัดในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ทางทีมงาน MyFriend ได้ทำการบุกไปเข้าสัมภาษณ์สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงสามท่านที่โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUVET) การพบปะเพื่อน ๆ ของพวกเราครั้งแรกเป็นไปได้ด้วยดี ได้บทสัมภาษณ์แบบเต็มเปี่ยม ไม่มีกั๊ก อีกทั้งยังมีความเป็นกันเอง พูดคุยกันอย่างสนุกสนานอีกด้วย

อาจารย์นายสัตวแพทย์ชัยยศ ธารรัตนะ เพื่อนคนแรกของ MyFriend เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานชมรมสัตวแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

ด้วยแพชชั่นที่มีต่อเหล่าสัตว์โลกมาตั้งแต่วัยเด็ก คุณหมอชัยยศได้ตัดสินใจเลือกก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นสัตวแพทย์อย่างไม่ลังเล หลังจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความประทับใจของการเป็นสัตวแพทย์ วันนี้คุณหมอชัยยศยินดีเป็นเพื่อนคนแรกของพวกเรา MyFriend ที่จะแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ให้กับทุกคน 😊

อย่างแรกเลย ให้คุณหมอแนะนำตัวเองก่อนดีกว่าค่ะ

อาจารย์นายสัตวแพทย์ชัยยศ ธารรัตนะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ประธานชมรมสัตวแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยครับ

น้องคนนี้ (สุนัขชิวาว่า) ชื่ออะไรคะคุณหมอ?

น้องคนนี้ชื่อทิกเกอร์ครับ เป็นลูกหลานในครอบครัว (หัวเราะ) เลี้ยง 3 ตัว ก็คือเป็นพ่อแม่กัน แล้วก็จะมีลูกหลานออกมาอีกหลายตัวครับ แล้วก็แจกจ่ายกันไปในคณะเนี่ยแหละครับ (หัวเราะ)

คุณหมอรักสัตว์มาตั้งแต่เด็กเลยไหมคะ?

ตั้งแต่เด็กเลยครับ ตั้งแต่จำความได้ผมก็ไปจตุจักรบ่อยมาก ไปรับเลี้ยงนู่นนี่นั่นมาเลี้ยง เดี๋ยวก็สุนัข เดี๋ยวก็แมว งูก็มี ปลาก็เลี้ยง เลี้ยงทุกอย่างครับ เชื่อว่าตรงนั้นน่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่เราใกล้ชิดมาแต่เด็ก แล้วคุณพ่อผมเองก็รักสุนัข ก็คือเราก็เลี้ยงดูกันมาตั้งแต่เด็ก จนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็เลือกสัตวแพทย์ทุกอันดับเลยครับ

มีโมเมนต์ไหนในการที่เป็นสัตวแพทย์ที่ประทับใจมากที่สุดเลย? ที่แบบลืมไม่ได้เลยโมเมนต์นี้

ถ้าบอกตรง ๆ ก็คงจะมีหลายโมเมนต์ครับ ผมเชื่อว่าคนที่เป็นสัตวแพทย์เนี่ย สิ่งที่เป็นความประทับใจที่สุด แล้วก็คุณหมอจะแฮปปี้ที่สุด คือการที่ได้เห็นน้องหมาน้องแมวหายป่วย และเจ้าของซึ่งเป็นคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งก็จะรักเขาเหมือนลูกมากเนี่ย เขาสบายใจเมื่อลูกเขาหายจากโรคนะครับ

ก็จะมีหลาย ๆ ครั้ง เช่น ยกตัวอย่างครั้งนึงครับ มีน้องแมวซึ่งมีการติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วก็เป็นแผลพุพองทั่วตัวเลยนะครับ ตอนนั้นถึงขั้นที่อ่อนแอมากนะครับ ค่าเม็ดเลือดแดงก็ต่ำมาก จนเรียกว่าโลหิตจางแบบขั้นสูง เรียกว่าแทบจะเสียชีวิต ไม่รู้สึกตัวเลยในช่วงนั้นนะครับ แล้วก็บังเอิญว่าได้พามาที่โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ มีการถ่ายเลือด แล้วก็ไปดูแลอย่างใกล้ชิด พยายามให้การรักษาด้วยหลักการทางการแพทย์ที่เข้มข้นมาก แล้วเจ้าของก็ใจสู้มาก ให้ความร่วมมือกับเราทุกอย่าง แล้วสุดท้ายจากน้องแมวซึ่งป่วย ตัวเปื่อยทั้งตัว ใกล้เสียชีวิต ปัจจุบันก็กลับมาเป็นน้องแมวซึ่งแข็งแรง ร่าเริง น่ารักมาก

นั่นน่าจะเป็นโมเมนต์ในหลาย ๆ โมเมนต์ครับ ที่เวลาเราได้รักษาสัตว์เลี้ยงแล้ว เราได้พลิก ช่วยชีวิตเขา จากที่ใกล้จะเสียชีวิต กลับมาเป็นหมาแมวที่มีสุขภาพดี แล้วเจ้าของก็ปลื้มใจ แฮปปี้มาก ๆ ครับ

อยากให้คุณหมอฝากน้อง ๆ นิสิตที่กำลังฟังเราอยู่ ว่าในการที่เป็นสัตวแพทย์มีเคล็ดลับอะไรให้น้อง ๆ บ้างไหมคะ?

ผมเชื่อว่านิสิตสัตวแพทย์ทุกท่านที่เข้ามาเรียนสัตวแพทย์ได้ จะเป็นคนซึ่งมีศักยภาพในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของมายด์เซ็ต ในเรื่องของความรู้นะครับ แต่สิ่งที่ผมอาจจะต้องฝากไว้สักเล็กน้อยก็คือเรื่องของ EQ แล้วก็เรื่องของความเห็นอกเห็นใจเจ้าของ การใช้การสื่อสารเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการสื่อสารกับเจ้าของได้ หมอบางคนเก่งมาก แต่ว่าเมื่อสื่อสารไม่ได้ผล เขาก็ไม่สามารถอธิบายให้เจ้าของเข้าใจได้ ไม่สามารถอธิบายให้เจ้าของปฏิบัติตามแนวทางในการรักษาของเราได้

เพราะฉะนั้นอันนี้เนี่ย จะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผมเชื่อว่าเมื่อเราสื่อสารกันได้ เข้าใจได้ การนำความรู้จากที่เราเรียนมา แล้วไปปรับใช้ในชีวิตจริง มันก็จะทำให้มันมีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น

เห็นด้วยเลยค่ะคุณหมอ เวลาเจอคุณหมอที่อธิบายอะไรไม่ได้ เราจะไปกูเกิ้ลเนี่ย บางทีเราก็ไม่รู้ว่าจะทำต่อยังไงดี

เรื่องนี้ผมอยากจะฝากไว้ด้วยเช่นกัน สำหรับท่านคุณพ่อคุณแม่ของน้องหมา(แมว)ทุกท่าน การหาความรู้จากกูเกิ้ล เพราะเนื้อหาในกูเกิ้ลนั้นมันมีบางส่วนที่เป็นเนื้อหาจากความเป็นจริง มีแหล่งข้อมูลเชื่อถือได้ บางส่วนก็เป็นแค่ความคิดเห็น ซึ่งไม่มีแหล่งข้อมูลสนับสนุนตรงนั้นมีโอกาสเหมือนกันที่จะได้ข้อมูลที่ผิด ๆ และนำมาสู่แนวทางในการดูแลน้องหมาน้องแมวของเราที่ผิด ดังนั้น ผมแนะนำว่าพามาพบสัตวแพทย์ ขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์น่าจะดีกว่า

ถ้าเกิดว่าคุณแม่และคุณพ่อสัตว์เลี้ยงที่บ้านเนี่ย ถ้ายังไม่แน่ใจว่า เอ๊ะ อาการอย่างนี้ หาหมอแล้วหรือยัง จะต้องดูอาการกันก่อนไหม

อันนี้เป็นคำถามที่ผมได้ยินบ่อยมาก สิ่งที่ผมจะบอกก็คือว่า คุณพ่อคุณแม่กังวลไหม? ถ้าคุณพ่อคุณแม่กังวลและอยากจะคลายกังวล มาเลยก็ได้ กังวลน้อยก็มาเลย แล้วก็จะหายกังวล เราไม่จำเป็นจะต้องรอให้อาการเขาหนักแล้วค่อยมาหาคุณหมอก็ได้ อย่างน้อยเราได้ไปพบกับสัตวแพทย์ ได้ปรึกษากับท่าน เราก็จะได้ข้อมูลที่ทำให้เราคลายความกังวลได้ หรือถ้ามันต้องรับการรักษา เราก็จะได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ นะครับ

แต่ว่าถ้าในกรณีที่มันเป็นโรคซึ่งต้องไปพบหมอแน่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการที่ โดนสัตว์มีพิษ โดนงูกัด โดนต่อยโดยผึ้งหรือต่อ รถชน เลือดออก มีภาวะหายใจลำบาก หรือมีอุบัติเหตุอะไรก็แล้วแต่ พวกนี้ไม่ควรจะต้องมาหาข้อมูลจากกูเกิ้ล ไม่ต้องถามว่าต้องมาหรือไม่ต้องมา มาได้เลย

ถ้าสมมติว่าสุนัขมีอาการซึมเล็กน้อย เบื่ออาหารเล็กน้อย แต่ว่าทุกอย่างยังมีอาการเป็นปกติ ตรงนี้เราอาจจะยังไม่ต้องทำอะไร เราก็อาจจะแค่สังเกตอาการ ถ้าอาการนั้นยังคงต่อเนื่องไปสักประมาณหนึ่งวันสองวัน อันนี้น่าจะสังเกตได้ว่าไม่ปกติแล้ว ก็อย่ารอเลย รีบพามาพบสัตวแพทย์ดีที่สุดครับ

ท้ายสุด คุณหมอมีผลงานอะไรใหม่ ๆ อยากจะฝากไหมคะ?

ผมทำงานที่หน่วยโรคผิวหนังนะครับ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ นะครับ ตอนนี้หน่วยของเราก็จะมีงานบริการในเรื่องของคลินิกโรคภูมิแพ้และผิวหนัง สำหรับสุนัขและแมวของท่านที่มีปัญหาเรื่องโรคผิวหนัง และที่เราพบบ่อย ๆ มากในปัจจุบันคือพวกโรคภูมิแพ้ ก็สามารถที่จะพามาตรวจและวินิจฉัยโรคกับเราได้ มีทั้งในเรื่องของการให้ยาในการรักษา การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยหาภูมิแพ้ รวมไปถึงในเรื่องของการทำวัคซีนสำหรับโรคภูมิแพ้ด้วย เหมือนกับที่ในคนเลย ในการทำการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

นอกจากนั้น ในฐานะของผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์เล็กนะครับ ผมก็ขออนุญาตฝากเอาไว้ว่าเรามีคลินิกพิเศษเฉพาะทางในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งคุณหมอของเราทุกท่านในคลินิกพิเศษนั้นก็ผ่านการฝึกมาแล้ว หลาย ๆ ท่านก็คือได้รับอนุมัติบัตร หรือ Board-certified มาแล้ว เพราะฉะนั้นเนี่ยก็จะเชื่อถือได้ในคุณภาพในการทำงานของคุณหมอ เพียงแต่ว่าของเราอาจจะมีเคสมากสักเล็กน้อย ถ้าท่านสามารถที่จะรอได้หน่อยนึง เพราะว่าเคสโหลดเราเยอะ เราก็ยินดีให้บริการกับท่านนะครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าไปรักษาที่คลินิกเอกชนข้างนอก เป็นการรักษาในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ เราก็มีบริการที่เรียกว่า Referral Track หมายถึงว่าคลินิกข้างนอกสามารถส่งผลการตรวจ ส่งข้อมูลผลแล็บที่มีมา แล้วต้องการมาปรึกษาคลินิกเฉพาะทางทางด้านไหน ก็สามารถมาแจ้งได้ที่เวชระเบียน เราก็จะส่งตรงไปที่แผนกเฉพาะทางนั้น ๆ เลย ก็จะช่วยประหยัดเวลาของเจ้าของ ไม่ต้องเสียเวลารอนานครับ

ขอขอบคุณคุณหมอชัยยศที่มาพูดคุยกับเราในวันนี้ด้วยนะ! พวกเราแฮปปี้มากเลยที่ได้ใช้เวลากับเพื่อนชาวเพ็ทเลิฟเวอร์! 🥰


💙 Meet MyFriends! พาทุกคนไปทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ เจ้าของธุรกิจสัตว์เลี้ยง และผู้เชี่ยวชาญอีกมากมายที่พร้อมมาแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ให้กับชาวเพ็ทเลิฟเวอร์แบบหมดเปลือก!
🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!

Author

Enjoyed the article? Share with a Friend!