หมาแมวอ้วน: ภัยร้ายในความน่ารัก

“กินเยอะ ๆ นะลูก จะได้โตไว ๆ” ไหนใครเคยพูดคำนี้บ้าง ยกมือ! ✋🐾

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะเชื่อมโยงการกินเข้ากับความรัก เพราะไม่ว่าใครก็อยากเห็นลูกน้อยขนฟูโตวันโตคืนกันทั้งนั้น แต่ยิ่งคุณพ่อคุณแม่หรือแม้กระทั่งปู่ย่าตายายที่บ้านเริ่มมาช่วยกันเทข้าวด้วยความเอ็นดู จากโตไวก็กลายเป็นน้ำหนักเกิน อ้วนตุ๊มุขึ้นมาอย่างน่าฟัดแทน

แม้เหล่าสัตว์เลี้ยงที่น้ำหนักเกินเกณฑ์นั้นจะดูน่ารักในสายตาของหลาย ๆ คน แต่หากพูดถึงเรื่องของสุขภาพแล้ว รอบเอวที่เพิ่มมานี้ก็ส่งผลกับสุขภาพในระยะยาวเหมือนกันกับมนุษย์

โรคอ้วนในสัตว์เลี้ยงคืออะไร

โรคอ้วนในสัตว์เลี้ยงนั้นเกิดจากการที่สัตว์เลี้ยงบริโภคอาหารและได้รับพลังงานมากเกินกว่าที่จะใช้ได้หมดในแต่ละวัน เมื่อพลังงานส่วนที่ไม่ได้ใช้นั้นเปลี่ยนไปเป็นไขมันและเก็บสะสมไว้ในร่างกาย ทำให้เจ้าน้องมีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือถึงขั้นเป็นโรคอ้วนนั่นเอง

แม้จะยังไม่มีเกณฑ์น้ำหนักที่ใช้ร่วมกันทั่วโลกสำหรับโรคอ้วนในสัตว์เลี้ยง แต่ทางสมาคมสัตวแพทย์อเมริกัน (AVMA: American Veterinary Medical Association) ก็ได้กำหนดเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าสุนัขหรือแมวหนักเกิน 30% ของน้ำหนักที่ควรจะเป็น แสดงว่าสุนัขหรือแมวนั้นเป็นโรคอ้วน

การเป็นโรคอ้วนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายหลายอย่างที่รักษาได้ยาก เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เป็นต้น ความน่ากลัวเหล่านี้เป็นสิ่งที่แฝงมาพร้อมกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นและหลายคนชื่นชมว่าเป็นความน่ารักน่าเอ็นดู แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ อีกมากมาย

หากเจ้าน้องขนฟูของทุกคนมีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือโรคอ้วน ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวางแผนโภชนาการและการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงปู่ย่าตายาย และทุกคนที่คอยให้อาหารน้องด้วยความเอ็นดูนั้น จะต้องพร้อมใจกันช่วยน้องลดการกินทั้งอาหารและขนม และชวนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น และป้องกันการเกิดโรคอื่น ๆ ต่อไปนะ 💞

เคล็ดลับสุขภาพ

คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถตรวจสอบสัตว์เลี้ยงที่บ้านเบื้องต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการตรวจดูร่างกายของน้อง ๆ ถ้าหากน้องหมาแมวของเรายังน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • จับลำตัวดูแล้วเจอกระดูกสันหลัง
  • มองจากด้านบนลงมาจะเห็นเอวคอด
  • หน้าท้องไม่ป่องหรือกลม
  • ผิวหนังไม่หย่อนคล้อย

ขอขอบคุณชาร์ตประกอบการอธิบายจาก Elston Veterinary Clinic

บทความนี้ผ่านการตรวจสอบเนื้อหาโดยสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUVET)


👩‍⚕️👨‍⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!

🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!

References

Author

Enjoyed the article? Share with a Friend!