สัตว์เลี้ยงของเราเติบโตขึ้นทุกวัน ในขณะที่ชีวิตของเจ้าแมวเดินหน้าต่อไป คุณพ่อคุณแม่และสัตวแพทย์ก็จะต้องคอยช่วยน้อง ๆ ต่อสู้กับปัญหาสุขภาพมากมายที่เข้ามาตามอายุ โรคสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ (CDS: Cognitive Dysfunction Syndrome) หรือภาวะสมองเสื่อมในแมวเองก็เป็นหนึ่งในโรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้น โดยโรคสมองเสื่อมนี้จะส่งผลกระทบต่อสมอง และมากกว่า 50% ของแมวที่อายุ 15 ปีขึ้นไปจะพบกับปัญหานี้
สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมในแมวนี้ยังคงไม่แน่ชัด แต่ปัจจัยทางด้านพันธุกรรมก็อาจจะมีผลทำให้แมวบางตัวไวต่อการเป็นโรคนี้นั่นเอง แต่สิ่งที่เรารู้ก็คือ ภาวะสมองเสื่อมเป็นกระบวนการเสื่อมที่นำไปสู่การสูญเสียหรือบกพร่องทางการรับรู้ของแมว ทำให้การสังเกตอาการของแมวสูงอายุนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับคุณพ่อคุณแม่
สับสนและหลงลืม เป็นหนึ่งในสัญญาณแรก ๆ ที่พบของแมวที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยอาจเป็นได้ตั้งแต่แมวที่หลงทางในที่ที่คุ้นเคย หรือแม้ลืมแม้กระทั่งว่าชามข้าวและกระบะทรายของตัวเองอยู่ตรงไหน
ลืมวิธีเข้าห้องน้ำ เป็นสัญญาณอันตรายมากในหมู่แมวสูงอายุที่อาจนำไปสู่การเป็นภาวะสมองเสื่อม หากแมวที่บ้านของทุกคนขับถ่ายไม่ถูกที่ หรือลืมไปว่าต้องไปเข้าห้องน้ำตรงไหน ควรรีบไปหาสัตวแพทย์โดยด่วน
กิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นได้ตั้งแต่เปลี่ยนเวลาการนอน การกิน หรือการจ้องไปที่กำแพงอย่างเหม่อลอยเป็นเวลานาน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของน้อง ๆ ที่อายุมาก หากอยู่ดี ๆ กิจวัตรประจำวันก็เปลี่ยนไป ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
ส่งเสียงร้องมากขึ้น การส่งเสียงร้องมากขึ้นอย่างไม่มีเหตุผลในหมู่แมวสูงอายุนั้นอาจจะชี้ให้เห็นถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้หรือการเสื่อมถอย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ปกติแล้วน้องแมวจะมีเหตุผลมากมายในการร้องเรียก ไม่ว่าจะเป็นความหิวหรือต้องการความสนใจ แต่หากแมวสูงอายุที่บ้านเกิดพูดคุยเก่งกว่าปกติ ลองพาน้องไปให้สัตวแพทย์ช่วยตรวจดูก็จะดีที่สุด
ถ้าหากคุณสงสัยว่าแมวที่บ้านนั้นกำลังประสบกับโรคสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ (CDS: Cognitive Dysfunction Syndrome) ให้นัดเวลาเข้าปรึกษาคุณหมอสัตวแพทย์ เตรียมข้อมูลสุขภาพย้อนหลังทั้งหมดของน้องให้พร้อม และอธิบายอาการที่กำลังพบเจออยู่ให้ครบถ้วน รวมถึงสามารถทำการบันทึกเป็นรูปถ่ายหรือวิดีโอพฤติกรรมที่ผิดปกติ แล้วสัตวแพทย์ก็จะทำการทดสอบเพื่อดูว่าอาการโดยรวมของน้องแมวและการรับรู้เป็นอย่างไร
แมวที่มีภาวะสมองเสื่อมจะต้องการการบำบัด ช่วยเหลือและดูแลไปตลอดชีวิต ถึงแม้ว่าจะไม่มีวิธีการรักษาให้หาย การดูแลให้เจ้าแมวได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้รับการกระตุ้นอยู่ตลอดก็จะช่วยชะลอผลกระทบจากโรคสมองเสื่อมได้ กิจวัตรประจำวันอย่างการเล่น การฝึก และออกกำลังกาย เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยดูแลสุขภาพการรับรู้ของเจ้าน้อง โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัย สัตวแพทย์อาจจะแนะนำให้กินยา การทำพฤติกรรมบำบัด และแผนการกินอาหารแบบใหม่ที่ช่วยพัฒนาและชะลออาการของเจ้าน้องลงนั่นเอง
บทความนี้ผ่านการตรวจสอบเนื้อหาโดยสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUVET)
👩⚕️👨⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!
🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!
SUBSCRIBE &
STAY UPDATED
© 2023 MyFriend by Thai Innovative Technologies
© 2023 MyFriend by Thai Innovative Technologies