การดูแลสัตว์พิการ

การเลี้ยงสัตว์นั้นอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องใช้พลังกายพลังใจมากขึ้นอีกหลายเท่า เมื่อสัตว์นั้นมีความพิการ ไม่ว่าจะด้วยเป็นแต่กำเนิด โรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ หรือการแก่ชราลงก็ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการดูแลเอาใจใส่ ไม่ใช่เพียงแค่ตัวของสัตว์เลี้ยง แต่รวมถึงการอำนวยความสะดวกในพื้นที่รอบข้าง และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และน่าอยู่ เพื่อให้น้อง ๆ ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่!

การดูแลสัตว์พิการทางการมองเห็น

การพิการทางการมองเห็นอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ที่สัตว์เลี้ยงเกิด อุบัติเหตุ โรคภัย หรือเมื่อแก่ตัวลง ไม่ว่าสัตว์เลี้ยงของเราจะมองเห็นแบบพร่ามั่วหรือมองไม่เห็นเลย ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรจำกัดให้อยู่เพียงพื้นที่เล็ก ๆ เท่านั้น

สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความคุ้นเคยและปลอดภัยในพื้นที่ที่อยู่อาศัย โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเก็บบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เก็บของมีคมและสารเคมีอันตรายให้ถูกที่ กั้นประตู หน้าต่าง หรือระเบียงที่สามารถพลัดตกลงไปได้ และไม่ย้ายเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่บ่อย ๆ เพราะสัตว์ที่พิการทางการมองเห็นนั้นจะพึ่งพาการจดจำแผนผัง (Layout) ของบ้านเป็นหลัก หากเคลื่อนย้ายของชิ้นใหญ่ในบ้านบ่อย ๆ ก็อาจเกิดเดินชนได้ง่าย สามารถอำนวยความสะดวกให้กับสัตว์เลี้ยงได้ด้วยการวางทางลาดตามบริเวณบันไดหรือพื้นต่างระดับ นอกจากนี้ยังสามารถเอนเตอร์เทนน้อง ๆ ด้วยของเล่นที่เล่นกับประสาทสัมผัสอื่น ๆ เช่น ของเล่นซ่อนขนม เป็นต้น

การดูแลสัตว์พิการทางการได้ยิน

การดูแลสัตว์ที่พิการทางการได้ยินนั้น ควรฝึกภาษามือหรือภาษากายให้คุ้นชิน และคอยดูแลให้อยู่ในสายตาเสมอ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับน้อง ๆ

ควรใส่ปลอกคอและสายจูงเสมอเมื่อพาสัตว์เลี้ยงออกไปเที่ยวนอกบ้าน ไม่ควรปล่อยให้วิ่งไกลจากระยะสายตามองเห็น เพราะสัตว์เลี้ยงจะมองไม่เห็นสัญญาณที่คุณพ่อคุณแม่บอกให้ระวังตัว

สิ่งที่สำคัญมากคือไม่ควรเข้าใกล้สัตว์ที่พิการทางการได้ยินตอนหลับ เพราะเมื่อไม่ได้ยินเสียง หากถูกสัมผัสจนตกใจตื่น อาจทำให้เกิดความหวาดกลัวและระแวง ลองค่อย ๆ วางอาหารไว้ใกล้ ๆ จมูกเพื่อเป็นการปลุกให้ตื่น เมื่อเห็นแล้วว่ามีคนมาค่อยลุกขึ้นมาเล่นด้วยกันนะ

การดูแลสัตว์พิการที่สูญเสียอวัยวะ

สัตว์ที่สูญเสียอวัยวะยังคงสามารถมีชีวิตได้ตามปกติหลังจากการรักษา โดยอาจสวมใส่อวัยวะเทียมเพื่อทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น และต้องรักษาสุขภาพเหมือน ๆ กับสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำหนักตัว เพราะน้ำหนักที่มากเกินจะยิ่งกดทับข้อต่อและแขนขาที่ยังเหลืออยู่ การออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการเคลื่อนไหว แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักที่อาจทำให้ร่างกายบาดเจ็บ นอกจากนี้ การเสริมทางลาดบนพื้นต่างระดับในบ้านและใช้ที่นอนถนอมกระดูกก็จะช่วยให้รู้สึกสบายตัวขึ้น

การดูแลสัตว์พิการทางการเคลื่อนไหว

สำหรับสัตว์ที่เคลื่อนไหวได้ลำบากหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ไม่ว่าจะเป็นอัมพฤต อัมพาต หรืออาการแก่ชรา คุณพ่อคุณแม่สามารถอำนวยความสะดวกได้หลายอย่าง ทั้งการจัดพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และการใช้อุปกรณ์ เช่น สายรัดอก สายสลิง หรือรถเข็นที่ช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวได้ การรักษาบางชนิดอาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น เช่น การฝังเข็มและการนวดจัดกระดูก โดยคุณพ่อคุณแม่ควรขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญก่อนการตัดสินใจ

ถึงแม้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะมีความพิการก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขไม่ได้ สิ่งที่สำคัญคือความพร้อมที่จะเอาใจใส่น้อง ๆ อย่างดีที่สุด โดยในประเทศไทยเองก็มีสัตว์พิการมากมายที่กำลังรอหาบ้านอยู่มากมาย รวมถึงมีหลากหลายมูลนิธิเพื่อสัตว์พิกาที่ต้องการความช่วยเหลือ ทุก ๆ คนสามารถส่งกำลังใจ กำลังทรัพย์ หรือแม้แต่สิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อช่วยเหลือได้เสมอ 👉 6 สิ่งที่สามารถบริจาคศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยงได้

สุดท้ายนี้ คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองเช่นกันนะ เพราะถึงแม้สัตว์เลี้ยงที่บ้านจะมีความพิการที่ร่างกายหลายอย่าง แต่หัวใจของน้อง ๆ ก็ยังสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของเราเสมอ ถ้าเราเศร้า น้อง ๆ ก็จะเศร้าตามไปด้วย มาดูแลพวกเขาด้วยความยินดีและเติมเต็มทุกวันของกันและกันให้ดีที่สุดกันเถอะ!


👩‍⚕️👨‍⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!

🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!

References

Author

Enjoyed the article? Share with a Friend!