อาการวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากในสัตว์เลี้ยงช่วงทริปปลายปี!

ใกล้ช่วงเทศกาลเข้าไปทุกทีและสิ้นปีนี้ก็มีวันหยุดตั้งเยอะ ต้องวางแผนไปเที่ยวแล้วมั้ย?! จะไปนอนพักผ่อนที่ริมทะเลหรือบนดอยก็น่าสนใจ หรือถ้ามีงบหน่อยก็ขึ้นเครื่องไปต่างประเทศโลด! แต่ลืมไปว่าหมาแมวที่บ้าน เอาไปด้วยก็ไม่สะดวกนี่นา ถึงจะมีคนช่วยดูแลหรือฝากไว้กับใครได้ แต่เจ้าน้องก็อาจจะเหงาหรือรู้สึกเครียดได้นะ! ยิ่งบ้านไหนปล่อยน้องอยู่คนเดียวตลอดช่วงไปทริปยิ่งต้องระวัง! 🙀

MyFriend ขอพาทุกคนมารู้จักกับอาการวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากในสัตว์เลี้ยง (Pet Separation Anxiety) และวิธีปฏิบัติเมื่อต้องห่างกับเจ้าน้องเป็นเวลานาน!

อาการวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากในสัตว์เลี้ยง (Pet Separation Anxiety)

เป็นกลุ่มอาการที่แสดงถึงความวิตกกังวล อันเนื่องมาจากการถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง เกิดขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงนั้นติดคุณพ่อคุณแม่มาก อาจจะไม่ได้สนิทกับคนอื่น ๆ ในครอบครัว หรืออยู่ลำพังแค่หนึ่งมนุษย์และหนึ่งสัตว์มาตลอด คนที่ทำงานอยู่ที่บ้านกับสัตว์เลี้ยง เมื่อต้องไปเที่ยวหรือกลับไปทำงานที่ออฟฟิศก็เหมือนกับว่าวันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็หายไปแบบงง ๆ อาจทำให้เกิดอาการเครียดหรือวิตกกังวลออกมาได้มากมาย ดังต่อไปนี้

สุนัข: ทำลายข้าวของ เห่ามากผิดปกติ พยายามหนีออกจากที่อยู่ กินเยอะกว่าปกติ หรือไม่กินเลย ปัสสาวะในบ้าน

แมว: ข่วนทุกอย่าง ส่งเสียงร้องและเลียขนมากกว่าปกติ กินเยอะกว่าปกติ หรือไม่กินเลย ปัสสาวะนอกกระบะทราย

ทำยังไงให้น้องอยู่บ้านอย่างมีความสุข

เมื่อเรารู้แล้วว่าต้นเหตุของการเครียดและวิตกกังวลนั้นเป็นเพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน จากที่คุณพ่อคุณแม่อยู่บ้านด้วยทั้งวัน กลายเป็นหายตัวไปเฉย ๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วก็ควรปรับตัวน้อง ๆ แต่เนิ่น ๆ ให้สามารถอยู่ได้โดยที่ไม่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่

  • สร้างสภาพแวดล้อมที่สัตว์เลี้ยงจะรู้สึกสบาย อบอุ่น ปลอดภัย มีความสุขกับตัวเองได้แม้ไม่มีมนุษย์อยู่ด้วย มีของเล่นที่เหมาะกับน้อง ๆ หลาย ๆ แบบให้เลือกเล่น
  • ฝึกพฤติกรรมให้น้องเคยชินกับการที่เราจะออกจากบ้าน พยายามอย่า “ให้รางวัล” ด้วยขนมหรือกอดหอมตอนจะออกหรือตอนกลับมาถึงบ้าน เพราะจะทำให้น้อง ๆ รอคอยอย่างใจจดใจจ่อตอนเราออก และเรียกร้องความสนใจทุกครั้งที่เรากลับมาถึง
  • หากอยู่กับเจ้าน้องแค่สองคน การพาน้องไปฝากโรงแรมสัตว์เลี้ยงที่ไว้ใจก็ไม่ได้เป็นทางเลือกที่แย่เกินไปนัก เพราะจะมีคนช่วยดูแลเรื่องอาหารการกิน การขับถ่าย และออกกำลังกายเป็นอย่างดี หรือจะให้คนใกล้ตัวที่ไว้ใจได้ เปิดบ้านเข้ามาดูแลน้อง ๆ ในทุก ๆ วัน พร้อมวิดีโอคอลหาคุณพ่อคุณแม่ให้ได้ยินเสียงอันคุ้นเคยก็ดีไม่น้อยเลยล่ะ!
  • หากไม่ได้อาศัยอยู่กันแค่สองคน ให้พาน้อง ๆ ไปตีสนิทกับสมาชิกคนอื่น ๆ (หรือสัตว์อื่น ๆ) ภายในบ้านให้มากขึ้น จะได้ไม่รู้สึกเหงาเมื่อคุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่ เพราะถึงแม้แต่เดิมน้อง ๆ จะติดแค่คุณพ่อคุณแม่คนเดียว แต่เมื่อเราไม่อยู่ น้อง ๆ ก็ต้องปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้ด้วย

ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะดูเหมือนทำได้โดยง่าย แต่อย่าลืมว่าน้อง ๆ ต้องการเวลาให้ตัวเองเคยชิน เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมตัวเปลี่ยนพฤติกรรมแต่เนิ่น ๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ เป็นหลัก หากเจ้าน้องได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอแล้วว่ามีอาการวิตกกังวล คุณพ่อคุณแม่ควรขอความช่วยเหลือ ใช้บริการพื้นที่ที่รับฝากสัตว์เลี้ยงอย่างโรงแรมหรือโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลจึงจะดีที่สุดนะ 😁

บทความนี้ผ่านการตรวจสอบเนื้อหาโดยสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUVET)


👩‍⚕️👨‍⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!

🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!

References

Author

Enjoyed the article? Share with a Friend!