ช่วยด้วยยย! หมาแมวกินต้นอะไรเข้าไปไม่รู้ ทำไงดี?!!

ในขณะที่คำว่า “คุณพ่อคุณแม่สัตว์เลี้ยง” หรือ “Pet Parent” นั้นแพร่หลายมาสักพักใหญ่ อีกหนึ่งคำที่ฮิตไม่แพ้กันในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ก็คือคำว่า “คุณพ่อคุณแม่ต้นไม้” หรือ “Plant Parent” นั่นเอง และโดยส่วนใหญ่แล้วคุณพ่อคุณแม่สัตว์เลี้ยงแต่เดิมนี่แหละ ที่รับงานเสริมเป็นคุณพ่อคุณแม่ต้นไม้ด้วยเหมือนกัน แต่ถึงแม้เจ้าหมาแมวและน้องต้นไม้จะนำพาความสุขและความสงบใจมาให้กับเรา แต่ก็อาจจะมีเส้นบางอย่างที่ทำให้ทั้งสองไม่ลงรอยกันนัก! 🌴😾

เพราะเจ้าน้องต้นไม้หลายสายพันธุ์นั้นเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยง แล้วความขี้สงสัยของเหล่าหมาแมวก็เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ หากเจ้าเพื่อนขนฟูของเราลิ้มลองพืชสีเขียวเข้าไปจะทำให้เกิดอันตรายต่อระบบย่อยอาหารได้เลยนะ! 🙀 ในบทความนี้เรามาสำรวจดูกันว่า มีต้นไม้ยอดฮิตอะไรบ้างที่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง วิธีปฐมพยาบาลหากสัตว์เลี้ยงของเราถูกพิษ และวิธีป้องกันตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุไม่คาดฝัน 🌱

ต้นไม้มีพิษต่อสัตว์เลี้ยงที่นิยมปลูกในบ้าน 🌵

  • ลิ้นมังกร (Snake plant)
  • ดารารัตน์ (Daffodil)
  • ทิวลิป (Tulip)
  • ปาล์ม (Palm)
  • ใบเงิน (Jade plant)
  • ว่านหางจระเข้ (Aloe Vera)
  • พลูแฉก (Monstera)
  • กวักมรกต (ZZ plant)
  • เดหลีใบมัน (Peace Lily)

อาการเมื่อถูกพิษ ⚠️

  • แมว – มีอาการคันและเกามากกว่าปกติ ตาบวม แดง มีน้ำตาไหล คันบริเวณรอบปาก อาเจียน ท้องเสีย หายใจติดขัด หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ น้ำลายไหล ปัสสาวะต่อเนื่อง
  • สุนัข – มีอาการคันและเกามากกว่าปกติ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีอาการซึม ร่างกายสั่นเทา กล้ามเนื้อกระตุก คลื่นไส้ อาเจียน ชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ท้องเสีย เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องปาก เหงือซีด และไม่สามารถปัสสาวะได้

วิธีปฐมพยาบาลหากสัตว์เลี้ยงของเราถูกพิษ

  1. ติดต่อสัตวแพทย์ทันที โดยเจ้าหน้าที่จะบอกวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นมาให้ตามแต่ชนิดของสัตว์เลี้ยง
  2. หากสัตวแพทย์แนะนำให้ทำให้อาเจียน จะมีการบอกวิธีที่เหมาะสมและดีที่สุดมาให้ในแต่ละกรณีและสัตว์แต่ละตัว
  3. คอยสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงและเก็บตัวอย่างอาเจียนมาด้วย (สัตวแพทย์อาจจะขอตัวอย่างไปตรวจสอบ) โดยให้นำไปทั้งอาหารและต้นไม้ที่กินเข้าไปมาด้วยกัน
  4. พาสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาลหรือคลินิกสัตว์ที่ใกล้ที่สุดหลังจากอาเจียน

หมายเหตุ: มีหลายแหล่งข้อมูลที่แนะนำให้ป้อนไข่ขาวดิบและนมเพื่อช่วยให้สัตว์เลี้ยงอาเจียน ทางเราไม่แนะนำวิธีนี้ เพราะทั้งสองอย่างอาจทำให้อาการแย่ลง ติดต่อสัตวแพทย์เพื่อสอบถามวิธีที่ช่วยให้สัตว์เลี้ยงอาเจียนอย่างเหมาะสมจะดีที่สุด

การรักษา 💉

ในการป้องกันการดูดซึมสารพิษเพิ่มเติม อาจมีการป้อนถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการยับยั้งสารพิษทั้งกับมนุษย์และสัตว์

ในกรณีที่ร้ายแรงมากอาจมีการรักษาเพิ่มเติมเพื่อให้สัตว์เลี้ยงกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น โดยสัตวแพทย์อาจจะต้องควบคุมอาการชัก ช่วยหายใจ กระตุ้นหัวใจ ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ และรักษาอาการเจ็บปวด

แผนป้องกัน

“กันไว้ดีกว่าแก้” เป็นสิ่งที่สำคัญเสมอ โดยทุกคนสามารถดูรายการของพืชที่มีพิษและไม่มีพิษ จาก ASPCA ได้ที่นี่ เพื่อให้แน่ใจว่าบ้านของเราจะไม่มีต้นไม้ที่เป็นอันตรายต่อเจ้าเพื่อนขนฟู แต่หากบ้านของใครมีสวนหรือสนามหญ้ากว้างขวาง อาจต้องแบ่งพื้นที่ให้แน่ใจว่าเจ้าน้องจะไม่เข้าไปในส่วนที่มีต้นไม้มีพิษสำหรับน้อง ๆ นั่นเอง

บทความนี้ผ่านการตรวจสอบเนื้อหาโดยสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUVET)


👩‍⚕️👨‍⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!

🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!

References

Author

Enjoyed the article? Share with a Friend!