บนโลกนี้คงมีไม่กี่อย่างที่มนุษย์พ่อแม่จะต้องการจากสัตว์เลี้ยง อาจจะแค่กอดอบอุ่นกับการหอมหัวจนชื่นใจ และขอให้น้อง ๆ มีความสุข สุขภาพดีทั้งกายและใจก็พอแล้ว! อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดลักษณะและสุขภาพของสิ่งมีชีวิต แน่นอนว่ากับสัตว์เลี้ยงขนฟูของเราเองก็เช่นเดียวกัน โดยมีโรคมากมายที่สามารถส่งต่อกันได้ตามกรรมพันธุ์ นั่นหมายความว่ามีโอกาสมากที่สิ่งมีชีวิตหนึ่งจะเจ็บป่วย หากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือแม้กระทั่งบรรพบุรุษเคยมีอาการของโรคนั้น ๆ
ก่อนที่ทุกคนจะกลายมาเป็นคุณพ่อคุณแม่สัตว์เลี้ยง การเตรียมตัวให้พร้อมล่วงหน้าย่อมเป็นเรื่องดี! บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลในการค้นค้วาและเตรียมพร้อมก่อนพาสัตว์เลี้ยงลูกรักเข้ามาบ้าน การเตรียมตัวเตรียมใจและหาข้อมูลให้ครบถ้วนนั้นเป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญในการรับผิดชอบต่อการเลี้ยงสัตว์ และนี่คือ 5 พันธุ์สุนัขและแมวยอดฮิตกับปัญหาสุขภาพที่คุณพ่อคุณแม่พึงระวัง!
ความหลากหลายทางพันธุกรรมและตัวแปรต่าง ๆ นั้นเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีของสิ่งมีชีวิต และกฎข้อนี้ก็สามารถใช้กับมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน! ความหลากหลายทางพันธุกรรมนี้เองที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตรอด ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถสู้กับโรคติดต่อ และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและปัจจัยทางชีวภาพที่อาจส่งผลต่อความเครียดได้
สัตว์พันธุ์แท้ เป็นสัตว์ที่มีการเกิดผ่านสายพันธุ์เดียวมาหลายต่อหลายรุ่น นั่นหมายความว่าจะรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย รุ่นทวด หรือบรรพบุรุษยิ่ง ๆ ขึ้นไปก็เป็นสายพันธุ์เดียวกันทั้งหมด! โดยในกระบวนการเพาะพันธุ์สัตว์นั้น จะมีการคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นสายเลือดแท้ (Pedigree)
นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้สัตว์พันธุ์แท้อาจจะมีปัญหาสุขภาพได้มากกว่าพันธุ์ผสมและจะเจ็บป่วยหรือเป็นโรคได้มากกว่า เพราะการผสมพันธุ์ในหมู่สัตว์เลี้ยงที่เป็นสายพันธุ์เดียวกันทำให้ยีนส์ที่ส่งต่อกันนั้นมีจำกัดนั่นเอง ลองมาทำความรู้จักกับน้อง ๆ สายพันธุ์แท้ยอดฮิตและโรคที่พบได้บ่อยกันเถอะ!
เพื่อนผู้สง่างามที่มาพร้อมกับลวดลายและรูปร่างที่ดูโฉบเฉี่ยว มีนิสัยกระตือรือร้นและเป็นกันเอง แต่ในขณะเดียวกันเหล่าแมวเบงกอลสุดเท่นี้ก็มาพร้อมกับปัญหาสุขภาพที่คุณพ่อคุณแม่พึงระวัง นั่นคือโรคลูกแมวอกแบน (FCKS: Flat-chested Kitten Syndrome) ต้อกระจก การเสื่อมของจอประสาทตา (PRA: Progessive Retinal Atrophy) และโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (HCM: Hypertrophic Cardiomyopathy) ซึ่งเป็นโรคที่อาจจะถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมของแมวเบงกอล
น้องแมวเปอร์เซียเป็นที่โด่งดังจากขนยาวงามและใบหน้ายู่ยี่ที่ดูรวม ๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน โดยกว่า 2 ใน 3 ของประชากรลูกแมวเปอร์เซียนั้นจะมีอาการทางด้านสุขภาพอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ที่พบได้บ่อยที่สุดคือโรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ โรคทางทันตกรรม โรคถุงน้ำในไต การเสื่อมของจอประสาทตา และข้อสะโพกเสื่อม
แมวรูปงามจากไทยแลนด์ของเรานี่เอง! วิเชียรมาศเป็นที่รู้จักกันจากลักษณะที่แตกต่างด้วยจุดดำบนใบหน้า หู อุ้งเท้า และหาง! น่าเศร้าที่ความน่ารักนี้มาพร้อมกับความเสี่ยงในการเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ทางเดินหายใจ ตา และปาก น้อง ๆ สามารถป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติได้เช่นเดียวกับเบงกอลและเปอร์เซีย ด้วยความที่วิเชียรมาศนั้นมีฟันที่ซี่ใหญ่กว่าแมวพันธุ์อื่น ๆ ทำให้สุขอนามัยในช่องปากของน้องนั้นต้องการการดูแลมากเป็นพิเศษ
น้องแมวไร้ขนเลื่องชื่อนี้ ที่จริงแล้วไม่ได้โล้นเลี่ยนเตียนโล่งเสียทีเดียว แต่ตัวของน้องถูกปกคลุมไปด้วยขนเส้นเล็กกกกทั่วตัวต่างหาก ด้วยการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติในยีนของแมวสฟิงซ์ ทำให้น้องมีหน้าตาที่ดูแตกต่างไม่เหมือนใคร เข้ากันได้ดีกับลักษณะนิสัยขี้เล่นแบบสุด ๆ โดยน้องแมวสฟิงซ์นั้นมีโอกาสที่จะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ ปัญหาผิวหนัง (ผื่นแดง เจ็บแสบ แดดเผา เป็นต้น) และปัญหาสุขภาพปากและฟันด้วยเช่นกัน
รากามัฟฟินเป็นสายพันธุ์แมวที่เป็นญาติกับเจ้าแร็กดอลแสนอ่อนโยน โดยน้องรากามัฟฟินจะมาในสีขนและมีลายที่หลากหลาย เป็นแมวที่มีลักษณะนิสัยคล้ายสุนัข ทั้งอบอุ่น ใจเย็น และแสนดี ทำให้เหมาะกับการเลี้ยงในครอบครัวเป็นอย่างมาก โดยน้องจะมีความเสี่ยงในการพัฒนาโรคที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ และโรคถุงน้ำในไต (ถ่ายทอดมาจากสายพันธุ์เปอร์เซีย)
สายพันธุ์ในฝันของเหล่าคนรักสุนัขหลาย ๆ คน น้องหมาสง่างามที่มาพร้อมเสียงก้องกังวาลและขนหนาสองชั้น ทำให้สุนัขสายพันธุ์นี้มักจะประสบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผิวหนังและชั้นขน โดยเฉพาะกับไซบีเรียนฮัสกี้ในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนชื้น มีโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตา เช่น ต้อกระจกและต้อหิน ก็เป็นโรคที่พบได้บ่อยในไซบีเรียนฮัสกี้เช่นเดียวกัน
อย่างที่หลายคนรู้กันว่า สุนัขและแมวสายพันธุ์หน้าสั้นนั้นมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยสัตว์เลี้ยงหน้าสั้น (Brachycephalic) นั้นมีลักษณะใบหน้าที่โดดเด่นมาจากการที่อวัยวะภายในระบบทางเดินหายใจถูกดันเข้าหากัน จนหลอดลมหดแคบลง นอกจากนี้ยังทำให้มีเพดานปากที่ขยายตัวและนุ่มลง ซึ่งทำให้หายใจเอาอากาศเข้าไปได้ยากขึ้นอีกด้วย
ปั๊กเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์สุนัขที่ประสบปัญหาทั้งในระบบทางเดินหายใจ เพดานปากที่ขยายใหญ่ขึ้นและอ่อนนุ่ม หลอดลมแคบ เช่นเดียวกันกับน้อง ๆ บูลด็อกที่หน้าสั้นเหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีโอกาสสูงที่จะมีปัญหาสายตา เพราะลูกตาของน้อง ๆ สามารถถลนออกมาจนหลุดจากเบ้าได้เลย! นอกจากนี้ยังอาจเป็นแผลหลุมที่กระจกตา (Corneal Ulcers) และแผลเป็นที่กระจกตา (Corneal Scarring) ได้อีกด้วย
เยอรมันเชพเพิร์ดผู้น่าเกรงขาม ขวัญใจเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะสุนัข K9 สุดเท่ ด้วยความที่เป็นสายพันธุ์ใหญ่ ทำให้เยอรมันเชพเพิร์ดมีความเสี่ยงที่จะสะโพกเสื่อม ซึ่งเกิดจากการที่ข้อกระดูกไม่พอดีกันกับข้อสะโพก อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ไขข้ออักเสบ และมีปัญหาขณะเดินหรือวิ่งได้นั่นเอง
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นความสดใสของโลกใบนี้ที่พร้อมนำพาความสุขมาให้กับทุกคนเสมอ แต่เจ้าขนทองตัวใหญ่นี้อาจจะไม่ได้มีความสุขอยู่ตลอดเวลา เพราะโกลเด้นรีทรีฟเวอร์นั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสะโพกเสื่อม ภูมิแพ้ผิวหนัง มะเร็ง อาการทางหัวใจ โรคลิ้นหัวใจออร์ติกตีบ (Aortic Stenosis) และอาการภูมิแพ้นั่นเอง
สภาพแวดล้อม เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อสุขภาพจิตของทั้งมนุษย์และสัตว์เลี้ยงของเรา! การมีพื้นที่ที่สะอาดเรียบร้อย ทำบ้านให้เหมาะกับสัตว์เลี้ยงเพื่อที่เราจะได้คลายกังวลเมื่อต้องปล่อยให้น้องอยู่บ้านด้วยตัวเอง เป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุขึ้นในบ้านจากการไม่เตรียมตัว
ทอดทิ้ง การทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานักต่อนักจากการไม่หาข้อมูลและเตรียมตัวให้ดีก่อนที่จะรับเลี้ยงสัตว์ หลายครั้งที่คนคิดกันว่าสัตว์เลี้ยงนั้นสามารถหาอาหาร ดูแลตัวเองได้ แต่แท้ที่จริงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวนั้นได้อยู่กับมนุษย์และกลายเป็นสัตว์บ้าน (Domesticated) มาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ไม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างบรรพบุรุษอีก ทั้งสุนัขและแมวต่างต้องพึ่งพามนุษย์เพื่อจะได้มีที่อยู่อาศัย ปัจจัยในการดำรงชีวิต และความรัก มีคนใจดีคอยให้พื้นที่บังแดดลมฝนและให้อาหาร ช่วยดูแลความสะอาดร่างกาย กระบะทราย และสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งเป็นสิ่งเล็กน้อยที่สุดที่จะต้องดูแลให้ได้ก่อนตัดสินใจเลี้ยงสัตว์สักตัวนั่นเอง
✔️ พาเจ้าน้องเล่นให้มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ
✔️ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
✔️ ให้อาหารที่ดี มีโภชนาการครบถ้วน
✔️ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไปด้วยกัน
✔️ บอกรักสัตว์เลี้ยงด้วยภาษาของน้อง ๆ
✔️ ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ
✔️ กำหนดกฎเกณฑ์และขอบเขตในการอยู่ร่วมกันและปฏิบัติตาม
✔️ หากต้องการซื้อสัตว์เลี้ยง ต้องแน่ใจก่อนว่าฟาร์มที่ทำการเพาะพันธุ์นั้นผ่านการรับรองและมีความรู้ด้านการเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงอย่างแท้จริง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมา
บทความนี้ผ่านการตรวจสอบเนื้อหาโดยสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUVET)
👩⚕️👨⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!
🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!
SUBSCRIBE &
STAY UPDATED
© 2023 MyFriend by Thai Innovative Technologies
© 2023 MyFriend by Thai Innovative Technologies