แมวขาวตาฟ้ากับอาการหูหนวก

เจ้าแมวเหมียวกับตาฟ้าและขนขาวฟูฟ่องเป็นภาพที่สวยงามและเรียกความสนใจให้กับทุกคนเสมอ ด้วยดวงตาสีน้ำของน้ำทะเลและคลื่นขนขาวนุ่มนวลราวกับหิมะ เรียกว่าเป็นสิ่งที่รวมความงามทุกอย่างบนโลกนี้เอาไว้ด้วยกันก็ว่าได้ แต่เพราะบนโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ และสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ลักษณะทางพันธุกรรมที่สวยงามนี้ก็คือความสามารถทางการได้ยินที่สูญหายไป!

ทุกคนอาจจะสงสัยเหมือนกันว่าทำไมแมวขนขาวตาฟ้าถึงหูหนวก? ทุกตัวเป็นเหมือนกันหมดมั้ย? แล้วเราจะป้องกันได้มั้ย? 🤔 ไม่ต้องคิดมากไป วันนี้ MyFriend จะพาทุกคนมาหาคำตอบพร้อมคำอธิบายแบบเต็ม ๆ ให้กับอาการนี้ของเจ้าเหมียวรูปงาม!

ไขความเข้าใจที่ผิด ❌

เรื่องของพันธุกรรมอาจจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากในบางครั้ง ก่อนจะมองไปยังยีนของเจ้าแมวขนขาวตาฟ้าที่หูหนวกและคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์มากมาย เราลองมาไขความใจผิดให้ตรงกันก่อนเถอะ!

🙀 แมวขาวทุกตัวหูหนวกหมด ❌

แมวสีขาวเป็นสีที่หาได้ยากที่สุด โดยคิดเป็น 5% ของประชากรแมวทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกว่าแมวขาวทุกตัวน่าจะหูหนวกทั้งหมด แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ หากแมวขาวมีตาสีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สีฟ้า ก็จะมีโอกาสได้ยินเสียงตามปกติมากถึง 80-90% เลยทีเดียว!

🙀 แมวขาวตาฟ้าเท่านั้นที่หูหนวก ❌

กลับกันกับข้อที่ผ่านมา ด้วยความที่แมวตาฟ้านั้นเป็นประชาแมวส่วนน้อยลงไปอีก จากแมวขนขาว 5% จะพบว่ามีตาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเป็นสีฟ้าแค่เพียง 1-2% เท่านั้น โดยในจำนวนนี้ แมวขาวตาฟ้า 60-80% นั้นหูหนวกแต่กำเนิด แต่ไม่ได้หมายความว่าแมวขนขาวตาฟ้าทุกตัวจะหูหนวกเหมือนกันหมด!

🙀 แมวขนขาวตาคนละสีก็หูหนวกทั้งหมด ❌

ภาวะตาสองสี (Heterochromia) ไม่ได้มีผลอะไรกับการมองเห็นหรือการได้ยินของแมว แม้แมวที่มีตาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเป็นสีฟ้าก็จะมีโอกาสหูหนวกมากกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะหูหนวก

🙀 แมวพันธุ์แท้เท่านั้นที่หูหนวก ❌

แน่นอนว่าการขาดความหลากหลายทางด้านพันธุศาสตร์นั้นอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้มากมาย แต่ในกรณีนี้ ไม่ใช่ว่าแมวพันธุ์แท้เท่านั้นที่เกิดมาหูหนวก เพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านพันธุกรรมหรือสภาพแวดล้อมก็ตาม

วิทยาศาสตร์เบื้องหลังอาการหูหนวกของแมวขนขาวตาฟ้า 🧬

เราลองมาย้อนรำลึกวัยเยาว์ไปยังคาบวิทยาศาสตร์สมัยม.ต้นของทุก ๆ คนกันเถอะ ทุกคนอาจจะคุ้นเคยกับเรื่องของยีนเด่นและยีนด้อยที่ส่งผลกับสีของดวงตา ความสูง กรุ๊ปเลือด และแม้แต่ความสามารถในการม้วนลิ้นได้หรือไม่ได้!

อันดับแรก ยีนที่กำหนดลักษณะหูหนวกในแมวขาวตาฟ้านั้นเรียกว่ายีน W (White) ยีนนี้เป็นยีนเด่น หมายความว่าในแมวตัวนั้นอาจจะมียีนที่เป็นลักษณะอื่น ๆ อีก อาจจะเป็นสีขนและสีตาสีอื่น แต่ด้วยความที่ยีน W นั้นเป็นยีนที่เด่นออกมา ทำให้ยีนอื่น ๆ ด้อยลงไป โดยเป็นยีนที่ส่งผลต่อความสามารถในการสร้างเม็ดสีเมลานินของแมว ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำให้เกิดเป็นสีขน (แสดงว่าที่จริงแล้วแมวขาวไม่ได้ขนสีขาว แต่เป็นแมวที่ไม่มีเม็ดสีในเส้นขนต่างหาก!)

อย่าลืมว่าสิ่งมีชีวิตอาจมีอัลลีลที่หลากหลายได้ แมวที่แมวขนสีขาวเป็นบางส่วนอาจจะไม่ได้มียีนเด่นที่ทำให้ขนเป็นสีขาว แต่อาจจะเป็นยีนที่ทำให้เกิดจุดสีขาวแทน

ขนสีขาวและตาสีฟ้าของแมวนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันทางพันธุกรรม เพราะยีนเด่นสีขาวนั้นจะกดเซลล์เม็ดสีที่เรียกว่าเมลาโนไซต์ (Melanocytes) ซึ่งเป็นเซลล์ที่จะพบได้ในโครงสร้างของหูชั้นในของแมว เมื่อไม่มีเมลาโนไซต์ในหู เซลล์ขนเล็ก ๆ และต่อมเล็ก ๆ ที่ใช้สำหรับการได้ยินนั้นจะค่อย ๆ ตายลง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่น้องแมวได้เกิดขึ้นมา จนน้องหูหนวกในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นหูหนวกข้างเดียวหรือสองข้างก็ตาม

สัญญาณหูหนวกในแมวขนขาวตาฟ้า

แมวขนสีขาวนั้นหายากอยู่แล้ว และยิ่งเป็นแมวขนขาวที่ตาสีฟ้าด้วย ยิ่งมีโอกาสมากที่เจ้าน้องจะสูญเสียการได้ยิน หากไม่แน่ใจว่าเจ้าน้องจะได้ยินหรือไม่ ให้ลองดูที่สัญญาณเหล่านี้

  • ไม่ทักทายหรือรู้ตัวว่ามนุษย์กลับมาบ้าน
  • ไม่ตอบสนองต่อการเรียกชื่อ เสียงดัง ๆ เสียงของเล่น หรือเสียงในชีวิตประจำวัน (เช่น เสียงถุงอาหารเมื่อถึงเวลากินข้าว)
  • ร้องเหมียวเสียงดัง (เพราะไม่รู้ตัวว่าตัวเองส่งเสียงออกมาดังแค่ไหน)
  • หลับลึกมาก ไม่ตื่นแม้จะปลุกดัง ๆ ก็ตาม
  • ความรู้สึกไวมากต่อกลิ่นและอุณหภูมิ
  • ค่อนข้างขี้อ้อนและต้องการความใส่ใจมากกว่าแมวอื่น ๆ

หากการสังเกตพฤติกรรมนั้นยังไม่เพียงพอและคุณพ่อคุณแม่ก็ยังไม่แน่ใจก็สามารถพาเจ้าเหมียวไปหาสัตวแพทย์ เพื่อทำการตรวจศักย์ไฟฟ้ากระตุ้นสมองส่วนรับเสียงได้ (BAER: Brainstem Auditory Evoked Response) โดยการทดสอบ BAER จะเป็นการตรวจวินิจฉัยด้วยไฟฟ้าที่จะตรวจสอบการได้ยินของสัตว์เลี้ยง กระบวนการตรวจอาจจะดูเหมือนน่ากลัวไปสักหน่อย แต่ไม่ต้องเป็นห่วงไป เพราะจะไม่มีการเจาะหรือสอดท่อใด ๆ เพียงแต่จะมีการอุดหูเจ้าน้องด้วยที่อุดที่มีเสียงคลิกหรือเสียงคงที่ ก่อนที่จะมีเข็มเล็ก ๆ จิ้มลงไปใต้ผิวหนังเพื่อบันทึกการตอบสนองของเส้นประสาทและสมองเมื่อได้ยินเสียง

การทดสอบ BAER นี้มักจะใช้ตรวจแมวขนสีขาวตาสีฟ้าอยู่แล้ว และเป็นการทดสอบเดียวเท่านั้นที่จะยืนยันได้ว่าเจ้าน้องหูหนวกหรือไม่อย่างแน่นอน เป็นวิธีที่มีความแม่นยำ 100% และใช้เวลาเพียงแค่ 5-10 นาทีเท่านั้นเอง

โดยโรงพยาบาลและคลินิกสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยนั้นจะไม่ได้มีการทดสอบ BAER ในทุกที่ คุณพ่อคุณแม่ควรหาโรงพยาบาลหรือคลินิกที่น่าเชื่อถือและสอบถามทางโรงพยาบาลก่อนพาสัตว์เลี้ยงไปหาคุณหมอด้วยนะ

ความพยายามป้องกันอาการหูหนวกในแมวขาวตาฟ้า

เหล่านักวิทยาศาสตร์มากมายต่างมองเห็นประเด็นนี้และมีความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น โดยวิธีแก้ไขนั่นคือการคัดเลือกพันธุ์ โดยจะมีการเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะ และสามารถมีลูกที่มีลักษณะตามที่ต้องการได้

ในกรณีนีั แมวสายพันธุ์ฟอเรนไวท์ (Foreign White) เป็นแมวผสมระหว่างแมววิเชียรมาศและบริติชชอร์ตแฮร์ โดยในช่วงปี 1960 ได้มีการผสมสายพันธุ์ทั้งสองเข้าด้วยกันที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งทำให้เกิดการป้องกันอาการหูหนวกในแมวได้สำเร็จ! ในปี 1962 คุณแพท เทอร์เนอร์ (Pat Turner) สามารถจับคู่สายพันธุ์แมวได้อย่างลงตัว จนเกิดเป็นแมวสายพันธุ์ฟอเรนไวท์ พันธุ์แมวที่ได้รับการยอมรับโดยทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการผสมพันธุ์สัตว์ โดยคุณแพท เทอร์เนอร์เองยังเป็นคนที่ทำให้แมวสก็อตติชโฟลด์หูพับได้อีกด้วย!

การอยู่กับแมวหูหนวก

แมวหูหนวก แม้จะไม่ได้ยินแต่ก็สามารถสื่อสารได้ตามปกติ สามารถฝึกได้ และเป็นอีกหนึ่งสมาชิกที่สามารถเติมเต็มครอบครัวให้อบอุ่นได้ไม่แพ้แมวอื่น ๆ ! แต่น้อง ๆ จะมาพร้อมกับลักษณะประจำตัวที่ไม่เหมือนใคร ถ้าหากว่าทุกคนเคยชินกับการเลี้ยงแมวที่ได้ยินเสียงตามปกติ การดูแลเอาใจใส่น้องแมวที่หูหนวกนั้นอาจจะแตกต่างออกไปสักเล็กน้อย แมวบางตัว (ไม่ใช่เฉพาะแมวขาวตาฟ้า) อาจจะสูญเสียการได้ยินในตอนที่อายุมากแล้วเหมือนกับมนุษย์สูงวัย เพราะฉะนั้นการหาข้อมูลและเตรียมพร้อมในการดูแลน้อง ๆ ไว้ก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน! และนี่คือเคล็ดลับในการดูแลเจ้าเหมียวหูหนวกจาก MyFriend

💬 เคล็ดลับในการสื่อสาร

สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่แตกต่างกันในการเลี้ยงแมวหูหนวกกับแมวที่ได้ยินตามปกตินั้นก็คือการที่ทุกคนจะต้องสื่อสารกับเจ้าน้องด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป การส่งเสียงเรียกเหมียวววววอาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป แต่ทุกคนยังสามารถทำตามเคล็ดลับและเทคนิคเหล่านี้ในการสื่อสารกับน้อง ๆ

  • เข้าหาน้อง ๆ ด้วยก้าวเท้าหนัก ๆ ให้สัมผัสได้ว่ามีมนุษย์เข้ามาใกล้
  • สอนสัญญาณมือสำหรับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน (เวลาให้อาหาร เวลาฝึกทริคต่าง ๆ)
  • หรือจะลองใช้สัญญาณไฟจากไฟฉายแทนก็ได้นะ
  • ใส่ปลอกคอพร้อมกระดิ่ง จะได้ไม่ต่างคนต่างตกใจกันเองยังไงล่ะ!
  • พูดกับน้อง แม้จะไม่ได้ยิน แต่ก็ยังคงมองเห็นปากเคลื่อนไหวและรู้สึกถึงความถี่ของเสียงได้อยู่

🐾 วิธีการฝึก

อาจจะเป็นเรื่องยากในการฝึกแมวหูหนวกให้เรียนรู้ทริค แต่วิธีการฝึกหลัก ๆ ก็ไม่ได้ต่างจากปกติมากนัก เพียงแค่ใช้หลักการพื้นฐานก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างเช่น เปิดไฟฉายสองครั้งทุกครั้งก่อนที่จะเทข้าว ไม่นานนักเจ้าน้องก็จะรู้เองว่าการเปิดไฟสองครั้งนี้หมายถึงเวลาอาหารแล้ว!

🦺 ปลอดภัยไว้ก่อน

การเลี้ยงแมวที่หูหนวกไว้ในบ้านนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลให้เจ้าน้องปลอดภัย เพราะโลกภายนอกนั้นอาจจะเป็นอะไรที่วุ่นวายเกินไปสักหน่อย แมวที่หูหนวกจะไม่สามารถได้ยินเสียงอันตรายที่เข้ามาใกล้ตัว (เช่น เสียงหมาเห่า เสียงรถยนต์ เสียงของหล่นใส่ เป็นต้น) หากทุกคนอยากให้น้อง ๆ ได้ชมบรรยากาศนอกตัวบ้านบ้าง การทำระเบียงแมว (Catio) หรือให้เจ้าน้องอยู่บริเวณหน้าต่างบานใหญ่ ๆ ก็จะช่วยให้สามารถมองโลกภายนอกได้จากระยะที่ปลอดกัย รวมถึงเป็นการทำให้แมวได้รับการกระตุ้นสมองอีกด้วย!

แล้วเราก็ได้ผ่านการเรียนรู้เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับอาการหูหนวกในแมว จากความเข้าใจผิดสู่วิทยาศาสตร์และพันธุกรรมที่อยู่เบื้องหลังความพิการทางการได้ยิน อาการ และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับแมวหูหนวก แม้เจ้าน้องจะไม่ได้ยินเสียง แต่ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารัก น่ากอด และน่าทะนุถนอมไม่แพ้สมาชิกขนฟูตัวอื่น ๆ ในครอบครัวเลย MyFriend หวังว่าข้อมูลและเคล็ดลับต่าง ๆ ที่เราเอามาฝากกันจะช่วยให้ทุกคนสามารถดูแลเจ้าน้องที่อาจจะมีปัญหาทางการได้ยินได้ดีขึ้น เตรียมพร้อม และมอบความรักที่ดีที่สุดที่จะมีได้เสมอนะ! 

บทความนี้ผ่านการตรวจสอบเนื้อหาโดยสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUVET)


👩‍⚕️👨‍⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!

🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!

References:

Author

Enjoyed the article? Share with a Friend!